ความเป็นมา

สำนักงานพระสอนศีลธรรม 

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

๑. ความเป็นมา   

เป็นที่ทราบกันตลอดมาว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยนั้น มีความผูกพันธ์กับสถาบันพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน เพราะการศึกษาไทยในอดีตนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนกระทั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  การศึกษายังคงดำเนินไป เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวคือ มีวัดได้ให้ความรู้แก่พลเมืองให้เหมาะ แก่ความต้องการของประชาคม วัดและบ้านรับภาระในการอบรมสั่งสอนเด็ก ส่วนรัฐหรือราชสำนักควบคุมตลอดจนให้ความอุปถัมภ์ตามสมควร  ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องเรียนรู้การบ้านการเรือนจากจากคุณแม่คุณยาย ถ้าเป็นผู้ชายต้องศึกษาในวัด เพราะวัดเป็นที่รวมสรรพวิชา การเรียนการสอนในสมัยก่อนเป็นการฝึก การอ่านออก เขียนได้ จับประเด็นได้ เรียนรู้พื้นฐานคณิตศาสตร์ บวก ลบ คูณ หาร การคัดลายมือ ศิลปะเฉพาะด้านเช่นช่างฝีมือ ช่างแกะสลัก ใครผ่านการบวชเรียนก็จะเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ว่าเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้มีความสามารถ และต่อมาในสมัยอยุธยาได้ให้ความสำคัญกับการบวชเรียนมาก โดยมีหลักเกณฑ์ว่าใครที่ผ่านการบวชเรียนจะสามารถเข้ารับราชการได้ ระบบการศึกษาของไทย ได้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ใน  
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น ซึ่งทำให้การศึกษาวัดและโรงเรียนแยกกันออกอย่างชัดเจน (คณะอาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา. ๒๕๓๒, น. ๗) 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้การนับถือมาช้านานหลายศตวรรษและเป็นรากฐานสำคัญจารีต ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของคนไทย ชีวิตของประชาชนชาวไทยแต่เดิมผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนาและสถาบันพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น วัดได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของชุมชนท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เป็นแหล่งการศึกษาของประชาชนทุกระดับ ทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการฝึกอบรมพระสงฆ์ที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนาและพลเมืองที่จะรับผิดชอบสังคม จนถึงมีประเพณีบวชเรียนสำหรับเตรียมผู้นำทางสังคม ตั้งแต่ผู้นำครอบครัวเป็นต้นไป พระภิกษุสงฆ์ทั่วไปมีฐานะเป็นครูอาจารย์ของประชาชน และพระสงฆ์มีหน้าที่เป็นหัวหน้า วัดก็มีฐานะเป็นผู้นำชุมชนหลักธรรมคำสอน และวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมกล่อมเกลาจิตใจประชาชนชาวไทย ให้มีศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรมและค่านิยม ตามแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนอันเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมไทย มีความร่มเย็นเป็นสุข มีเอกลักษณ์ของตนเอง ประชาชนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องมีความปรองดองสามัคคี เป็นปึกแผ่นมั่นคงตามสมควรแก่ปัจจัยตลอดมา โดยมีพระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงดำรงทศพิธราชธรรมในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของชาติ เป็นผู้นำในการปกครอง เมื่อทรงเห็นคุณค่าและความจำเป็นของพระพุทธศาสนาดังกล่าวมา ก็ได้รับเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ปกป้องสถาบันพระพุทธศาสนาด้วยการทำนุบำรุง ส่งเสริม และจัดวางระบบต่าง ๆ ให้เรียบร้อยและเป็นไป ด้วยดี  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” โดยมีพระราชประสงค์เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น จึงทรงตั้งวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการของมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร (๒) เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ (๓) เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา จนกระทั่ง   พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ กำหนดให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นนิติบุคคล กำหนดสถานภาพและวัตถุประสงค์  ไว้ว่า “ให้เป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนา แก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม”   

การสอนศีลธรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาจิตใจเป็นสำคัญ และมีสาระของนโยบายตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ กำหนดแนวทางดำเนินงานด้านศาสนาไว้อย่างละเอียด กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนพัฒนาฯ ระยะที่ ๘ ที่กำหนดนโยบายด้านการศาสนาไว้เฉพาะแยกจากด้านการศึกษาและวัฒนธรรม มีรายละเอียดเนื้อหา ระบุวัตถุประสงค์ นโยบาย และเป้าหมาย ตลอดจนมาตรการครอบคลุมภารกิจของงานด้านศาสนาที่มุ่งเน้นให้ศาสนาเป็นรากฐานการพัฒนาจิตใจ คุณธรรม จริยธรรมของประชาชน  ทำให้เกิดมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้เป้าหมายที่วางไว้สำเร็จได้ซึ่งหนึ่งในวิธีการหลาย ๆ วิธี คือ โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่มุ่งเน้นในการพัฒนาทั้งผู้เรียน ผู้สอน และสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการเรียนการสอน ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจึงเกิดขึ้น 

การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในแต่ละหน่วยงานหรือองค์การมีความ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติฯ  ตามความในมาตรานั้น ๆ โดยอาจจำแนกองค์กรหรือหน่วยงานหลักๆ คือ สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สำนักงานอธิการบดี สำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ และวิทยาลัย โดยเฉพาะส่วนการบริหารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงานวิชาการตามกรอบของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของการจัดการศึกษาคือ การบริการวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ให้การส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรม โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์และบุคลากรในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ชุมชน ท้องถิ่น ในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กำหนดเฉพาะการสอนหรืออบรมศีลธรรมให้กับเยาวชนในสถานศึกษา อาทิ โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการค่ายพัฒนาคุณธรรม โครงการพัฒนาครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาตามแนวทางปฏิรูปการศึกษา โครงการพระนักเผยแผ่ภาคภาษาอังกฤษ โครงการธรรมะประสานใจห่างภัยยาเสพติด โครงการจัดการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โครงการจริยธรรมสัญจร โครงการพระธรรมวิทยากร โครงการสอนพระพุทธศาสนาเยาวชน และโครงการแก่นธรรมนำชีวิต เป็นต้น ซึ่งโครงการทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ดังนั้นการบริหารจัดการจึงเป็นไปตามกำหนดระเบียบของหน่วยงานนั้น ๆ และเป็นที่สังเกตว่าโครงการส่วนมากเป็นการจัดกิจกรรมครั้งเดียว ที่ถูกกำหนดด้วยระยะเวลา และงบประมาณของมหาวิทยาลัย 

. การเกิดขึ้นของโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

การเกิดขึ้นของโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนนั้น เกิดจากปัญหาการขาดศีลธรรมของเยาวชน ประชาชนในสังคมไทย ดังที่ปรากฏในหลักการของโครงการ ที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่อดีต  พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็น 
พุทธมามกะ  และทรงนำหลักทศพิธราชธรรมเป็นแนวทางการปกครอง ดังเช่น พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ความตอนหนึ่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นอกจากนั้นแผ่นดินไทยยังเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย  สัญลักษณ์ที่ปรากฏมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งยืนยันว่าสังคมไทยเป็นสังคมวิถีพุทธ  คือวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับวัดและพระสงฆ์  แต่ปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วตามกระแส “โลกาภิวัตน์”  หรือโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน คนในสังคมมุ่งการแข่งขันกันทำงานเพื่อความสำเร็จด้านธุรกิจหรืออาชีพ  มีค่านิยมฟุ้งเฟ้อหรือหลงใหลวัตถุ เกิดลัทธิบริโภคนิยม  การเปลี่ยนแปลงและค่านิยมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมโดยกว้าง  และเป็นปัญหาสังคม  โดยเฉพาะปัญหาด้านพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่น  ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเรียนหนังสือและเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ  ดังนั้น  การนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจของเด็กวัยรุ่น จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพระสอนศีลธรรมให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการเผยแผ่  เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และนำพาเยาวชนให้มีพฤติกรรมที่ดี  เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต (โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๗) 

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มาตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ – ๒๕๕๐ โดยแรกเริ่มรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่ออุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายถวายพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่เข้าไปสอนในสถานศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวะศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประมาณ ๖๐๐ รูป ภายหลังต่อมาจากการที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และมีการประชุมร่วมกัน พบว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความต้องการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนไปสอนในโรงเรียนเฉพาะที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่น้อยกว่า ๕๘,๐๓๗ รูป โดยเฉพาะโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ แห่ง กรมการศาสนาได้เปลี่ยนบทบาทการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ในปีงบประมาณ ๒๕๕๑  ที่ดำเนินการมาแต่เดิม ไปสนับสนุนกิจกรรมคุณธรรมอื่น ๆ โดยได้โอนภาระงานพร้อมงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการรับดำเนินการ และได้มอบให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รับโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มาดำเนินการจัดเข้าในพันธกิจประเภทงานให้บริการวิชาการแก่ชุมชน (กรมการศาสนา, ๒๕๔๘ : ๑ – ๖) โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๕ หน่วยงาน ได้แก่ (๑) มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ด้วยมีพระสงฆ์ที่มีความพร้อมและมีพระที่สอนอยู่ใน 

สถานศึกษาต่าง ๆ อยู่แล้ว  (๒) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีศึกษานิเทศก์และสถานศึกษา/โรงเรียนที่มีความต้องการพระสอนฯ  (๓) กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมจังหวัดซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ ฯ มาแต่เริ่มแรก  (๔) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีผู้อำนวยการพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นผู้ส่งเสริมพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่เข้าไปทำการสอนในโรงเรียน (๕) คณะสงฆ์ ซึ่งมีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ปกครองดูแลพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

ปัจจุบันโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ได้ยกฐานะขึ้นเป็นสำนักงานพระสอนศีลธรรม    ตามประกาศมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๘ เดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เรื่อง การแบ่งส่วนงานระดับฝ่ายภายในสำนักงานอธิการบดี 

๓. การดำเนินงานของสำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

สำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถือเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยในด้านบริการวิชาการแก่สังคมในรูปแบบของการจัดทำโครงการเพื่อการเผยแผ่วิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคม โดยจัดเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ระยะ ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๕) ในกลยุทธ์ที่ ๓ การให้บริหารวิชาการพระพุทธศาสนาที่เสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่สังคม เป้าประสงค์ที่ ๓.๑ การบริการวิชาการโดยถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมของสังคมและชุมชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นมาตรการที่ ๒ คือพัฒนากระบวนการบริการวิชาการที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ อยู่ในโครงการหลักที่ ๑๗ ของมาตรการดังกล่าว 

ด้านการบริหารจัดการ 

 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ลงนามโดยอธิการบดี กำหนดให้รองอธิการบดี (พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย, ผศ.ดร.) เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันมีคณะกรรมการ ๑๓ รูป/คน (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๖๒) มีเจ้าหน้าที่ในโครงการ ๑๗ รูป/คน มีอัตราพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน สังกัดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๖,๗๐๐ รูป มีโรงเรียนที่พระสอนศีลธรรมเข้าไปดำเนินการสอนมากกว่า ๖,๕๐๐ โรงเรียน ผลผลิตนักเรียนที่ได้รับการสอนศีลธรรมในระดับต่าง ๆ มากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ใช้อาคารพระพรหมมุนี (ผิน สุวจเถร) (B 7.2) เป็นสถานที่ประสานงาน โดยกำหนดให้เป็นสำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  นอกจากนั้นแล้วยังมีศูนย์ประสานงานในส่วนวิทยาเขตและวิทยาลัยอีก ๙ แห่ง  ลักษณะการดำเนินกิจกรรมหลัก ของคณะกรรมการบริหารโครงการและเจ้าหน้าที่ ได้แก่ การอบรมและพัฒนาพระสอนศีลธรรมให้มีทักษะด้านการเรียนการสอน การส่งพระสอนศีลธรรมไปสอนในโรงเรียนทั่วประเทศ และการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมด้วยกระบวนการวิจัย  

โดยสรุปแล้ว คณะกรรมการบริหารโครงการมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้ 

๑) กำหนดนโยบายและวางแผนงานโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน  

๒) กำหนดคุณสมบัติ และวิธีการคัดเลือกพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

๓) กำหนดวิธีการฝึกอบรมพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนตามหลักสูตรโครงการพระสอนศีลธรรม 

ในโรงเรียน ให้เป็นแนวทางเดียวกัน 

๔) ติดตาม ประเมินผล และวิจัยโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

๕) ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการและคณะทำงาน หรืออื่นๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการและมหาวิทยาลัย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 

๖) ให้มีอำนาจในการเบิกจ่ายตามระเบียบของมหาวิทยาลัยหรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง 

สภาพปัจจุบันของสำนักงานพระสอนศีลธรรม 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการบริหารด้านการจัดการเรียนการสอนของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมาโดยตลอด ในปีที่ผ่านๆ มา พบว่า ในส่วนของโครงการนั้นเป็นโครงการที่ดี เป็นการสร้างและปลูกฝังให้เยาวชนนำหลักคำสอนจากพระสอนศีลธรรม ไปปฏิบัติเพื่อเกิดความสงบสุขอันบริสุทธิ์ ในทางสังคม ลดปัญหาวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ในด้านการบริหารโครงการหรือองค์การของโครงการกลับพบว่า มีปัญหามากอันดับแรก ได้แก่ การเบิกจ่ายค่านิตยภัตของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่มีความล่าช้ามาก ส่งผลให้พระสอนฯ หมดกำลังใจและลาออกเป็นจำนวนมาก  การประชาสัมพันธ์พระสงฆ์ร่วมโครงการและการอบรม ยังขาดแบบแผนอันเดียวกัน อาจเนื่องจากการขาดหลักสูตรพระสอนศีลธรรม ทั้งใหม่และเก่าให้มีความเข้มข้น  อีกทั้งขาดการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยของโครงการอยู่ตลอดเวลา และขาดเจ้าหน้าที่ทำประกันคุณภาพ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการบริหารจัดการที่ด้อยประสิทธิภาพของสำนักงานพระสอนศีลธรรมของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งสภาพปัจจุบันของสำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัย     มหามกุฏราชวิทยาลัย ปรากฏดังนี้ 

๑. ด้านสภาพแวดล้อม 

สภาพทั่วไป ประกอบด้วย 

.๑ หลักการ 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่อดีต พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงนำหลักทศพิธราชธรรมเป็นแนวทางการปกครองบ้านเมือง ดังเช่นพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ความตอนหนึ่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นอกจากนั้นแผ่นดินไทยยังเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย สัญลักษณ์ที่ปรากฏมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งยืนยันว่าสังคมไทยเป็นสังคมวิถีพุทธ คือวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับวัดและพระสงฆ์ แต่ปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วตามกระแส “โลกาภิวัตน์” หรือโลกการสื่อสารไร้พรมแดน คนในสังคมมุ่งการแข่งขันกันทำงานเพื่อความสำเร็จด้านธุรกิจหรืออาชีพ มีค่านิยมฟุ้งเฟ้อหรือหลงใหลวัตถุ เกิดลัทธิบริโภคนิยม การเปลี่ยนแปลงและค่านิยมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมโดยกว้าง และเป็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเรียนหนังสือและเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น การนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจของเด็กวัยรุ่น จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพระสอนศีลธรรมให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการเผยแผ่ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำพาเยาวชนให้มีพฤติกรรมที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต 

๑.๒ วัตถุประสงค์ 

เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนากิจการศาสนาให้พระพุทธศาสนาที่คนไทยนับถือเป็นรากฐานในการพัฒนาจิตใจ คุณธรรม จริยธรรม ของประชาชน โดยมุ่งทั้งการก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีความตระหนักในคุณค่า และความสามารถในการนำหลักศาสนธรรมที่แท้จริงไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มีหลักศาสนาเป็นครรลองแห่งการดำเนินงานอันจะนำไปสู่ความสงบสุขแห่งตน ตลอดจนสันติสุขแห่งสังคม ประเทศชาติ และมนุษยชาติโดยรวม ซึ่งมีรายละเอียดของนโยบาย เป้าหมาย และมาตรการใน ๔ เรื่อง คือ การพัฒนาศาสนศึกษาและบุคลากรทางศาสนา การเผยแผ่ศาสนธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม การบูรณะพัฒนาศาสนสถานและการบริหารและการจัดการทางศาสนา ในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดของนโยบาย เป้าหมาย และมาตรการในเรื่องการพัฒนาศาสนศึกษาและบุคลากรทางศาสนาและเผยแผ่ศาสนธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคมเท่านั้น โดยสรุป ได้แก่ 

๒.๒.๑) เพื่ออบรมและพัฒนาพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนให้มีความรู้และทักษะด้านการเรียนการสอนศีลธรรมแก่นักเรียน 

๒.๒.๒) เพื่อดำเนินการส่งพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนไปทำหน้าที่สอนในโรงเรียนทั่วประเทศ และพัฒนาจิตใจเยาวชนของชาติ พร้อมทั้งมีการติดตามและประเมินผลโดยผ่านกระบวนการวิจัย 

๒.๒.๓) เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการสอนศีลธรรมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง 

๑.๓) เป้าหมาย 

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมายของสำนักงานพระสอนศีลธรรม ดังนี้ 

๑.๓.๑) ด้านปริมาณ พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน จำนวน ๖,๗๐๐ รูป แบ่งเป็น 

ภาคกลาง ได้แก่  

๑. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (ส่วนกลาง) อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม   

จำนวน ๑,๙๙๕ รูป  

๒. วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๕๕๐ รูป  

๓. วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน ๕๒๕ รูป 

ภาคเหนือ  ได้แก่  

๑. วิทยาเขตล้านนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๖๐๐ รูป 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้แก่  

๑. วิทยาเขตอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน ๘๐๐ รูป  

๒. วิทยาเขตร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๕๐๐ รูป  

๓. วิทยาเขตศรีล้านช้าง อำเภอเมือง จังหวัดเลย จำนวน ๘๐๐ รูป  

๔. วิทยาลัยศาสนศาสตร์ยโสธร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร จำนวน ๒๓๐ รูป  

๕. วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์        จำนวน ๓๐๐ รูป  

 ภาคใต้ ได้แก่  

๑. วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๔๐๐ รูป 

๑.๓.๒) ด้านคุณภาพ คือ สอนศีลธรรมในโรงเรียนเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามวิชาความรู้ที่ได้ศึกษา ไม่น้อยกว่าร้อยละ๗๐